ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ศาลอาญาระหว่างประเทศ
International Criminal Court
Cour Pénale Internationale (ฝรั่งเศส)
สมาชิกภาพ (ตั้งแต่สิงหาคม 2553)     = รัฐที่ลงลายมือชื่อและให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมแล้ว     = รัฐที่ลงลายมือชื่อในธรรมนูญกรุงโรมแล้ว แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน
สมาชิกภาพ (ตั้งแต่สิงหาคม 2553)
= รัฐที่ลงลายมือชื่อและให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมแล้ว
= รัฐที่ลงลายมือชื่อในธรรมนูญกรุงโรมแล้ว แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน
บัลลังก์ มานเวิก 174, กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
52°04′06″N 4°21′13″E / 52.068333°N 4.353611°E / 52.068333; 4.353611
ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฝรั่งเศส
รัฐภาคี 114 รัฐ
ผู้นำ
 – ประธานศาล • ซง ซัง-ฮยุน (Song Sang-Hyun)
 – รองประธานคนที่ 1 • ฟาทูมาทา เดมเบเล ดีอาร์รา (Fatoumata Dembélé Diarra)
 – รองประธานคนที่ 2 • ฮันส์-พีเทอร์ โคล (Hans-Peter Kaul)
 – ตุลาการ • อิลิซาเบธ ออดิโอ เบนิโท (Elizabeth Odio Benito)
• อากูอา เควนเยเฮีย (Akua Kuenyehia)
• เอิร์กกี คูรูลา (Erkki Kourula)
• แอนิทา อูซักคา (Anita Ušacka)
• เอเดรียน ฟุลฟอร์ด (Adrian Fulford)
• ซิลเวีย สไตน์เนอร์ (Sylvia Steiner)
• เอคาเทรินา เทร็นดาฟิโลวา (Ekaterina Trendafilova)
• แดเนียล เดวิด แทนดา เซเรโค (Daniel David Ntanda Nsereko)
• บรูโน คอตที (Bruno Cotte)
• จอยซ์ อลูอ็อช (Joyce Aluoch)
• ซันจิ มาเซโนโน โมนาเก็ง (Sanji Mmasenono Monageng)
• คริสทิน ฟาน เดน ไวน์กาแอร์ท (Christine Van Den Wyngaert)
• คูโน ทาร์ฟัสเซอร์ (Cuno Tarfusser)
• เรอเน บลัตแมน (René Blattmann)
 – อัยการ • ลูอีส มอเรโน โอคัมโพ (Luis Moreno Ocampo)
 – รองอัยการ • ฟาทู เบนซูดา (Fatou Bensouda)
 – หัวหน้างานเขตอำนาจ การเสริมกำลัง และการประสานงาน • เบอาทรีซ เล ฟราแปร์ ดู แอลล็อง (Béatrice Le Fraper du Hellen)
 – หัวหน้างานสืบสวน • มิเชล เดอ สเม็ดต์ (Michel de Smedt)
 – นายทะเบียน • ซิลวานา อาร์เบีย (Silvana Arbia)
ก่อตั้ง
 – ตกลงรับธรรมนูญกรุงโรม 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1998
 – ใช้ธรรมนูญกรุงโรมบังคับ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002
เว็บไซต์ทางการ
Icc-cpi.int

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Criminal Court (ย่อ: ICC); ฝรั่งเศส: Cour Pénale Internationale) เป็น ศาลสถิตยุติธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นตาม ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นมา มีรัฐชาติหนึ่งร้อยสิบสี่รัฐเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรม อีกสามสิบสี่รัฐ ซึ่งรวมถึง ประเทศรัสเซีย ได้ลงลายมือชื่อในธรรมนูญกรุงโรมดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน สหรัฐอเมริกาลงลายมือชื่อในปี 2543 แล้วบอกถอนเสียในสองปีให้หลัง อีกหลายรัฐซึ่งรวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศอินเดียติเตียนเรื่องการจัดตั้งศาลนี้เป็นอันมาก ทั้งไม่ยอมทั้งลงลายมือชื่อและให้สัตยาบันแก่ธรรมนูญกรุงโรม

ศาลอาญาระหว่างประเทศมีบัลลังก์อยู่ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณา ณ แห่งหนตำบลใดก็ได้ทั้งสิ้น และธรรมนูญกรุงโรมให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจชำระคดีเฉพาะที่เป็นไปตามธรรมนูญเท่านั้น ข้อมูลทางสถิติตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ปรากฏว่า มีคำกล่าวโทษถึงร้อยละแปดสิบถูกยก เพราะยื่นมาโดยที่ไม่อยู่ในอำนาจศาล

โครงสร้าง

ภาพรวม

ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น อยู่ในความควบคุมของ “สมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรม” (Assembly of States Parties to the Rome Statute)

ส่วนตัวศาลเองนั้น แบ่งองค์กรเป็นสี่ฝ่าย คือ คณะประธาน (Presidency), แผนกตุลาการ (Judicial Divisions), สำนักงานอัยการ (Office of the Prosecutor) และสำนักทะเบียน (Registry)

สมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรม

สมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Assembly of the States Parties to the Rome Statute of the International Criminal Court) เป็นองค์กรด้านบริหารและนิติบัญญัติของศาล ประกอบด้วย ผู้แทนคนหนึ่งจากแต่ละรัฐภาคีรัฐหนึ่ง รัฐภาคีหนึ่ง ๆ มีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ในเบื้องต้น ทุก ๆ รัฐภาคีต้องใช้ “ความพยายามทุกวิถีทาง” (every effort) ในอันที่จะให้การวินิจฉัยของสมัชชาเป็นไปโดยเอกฉันท์ (consensus) ถ้าไม่ได้เอกฉันท์ การวินิจฉัยเรื่องนั้นจะกระทำกันโดยคะแนนเสียงข้างมาก

สมัชชานั้นประชุมสามัญกันเต็มคณะปีละหนึ่งครั้งที่นครนิวยอร์ก หรือบางทีก็ที่กรุงเฮก และจะให้มีการประชุมวิสามัญก็ได้แล้วแต่พฤติการณ์อำนวย ในการประชุมแต่ละครั้ง ประธานหนึ่งคน และรองประธานอีกสองคนของสมัชชา ซึ่งได้รับเลือกมาจากสมาชิกของสมัชชาให้ดำรงตำแหน่งคราละสามปี จะเป็นประธานที่ประชุม การประชุมนั้นเปิดให้รัฐผู้สังเกตการณ์และองค์การเอกชนทั้งหลายเข้าร่วมด้วยได้

สมัชชาจะเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการและอัยการ, กำหนดงบประมาณของศาล, ตกลงรับบทกฎหมายสำคัญ ๆ เช่น ระเบียบว่าด้วยวิธีพิจารณาความและพยานหลักฐาน (Rules of Procedure and Evidence), และกำกับดูแลองค์กรอื่น ๆ ของศาลด้วย ข้อ 46 ของธรรมนูญกรุงโรมยังให้อำนาจสมัชชาถอดถอนตุลาการหรืออัยการได้ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือละเลยหน้าที่ของตนอย่างร้ายแรง หรือไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ตามธรรมนูญกรุงโรมได้

แต่สมัชชาก็ดี หรือรัฐภาคีก็ดี หาอาจจะสอดแทรกการหน้าที่ทางตุลาการของศาลได้ไม่ การวินิจฉัยอรรถคดีนั้นย่อมเป็นกิจของศาลโดยแท้

ในการประชุมสมัชชาครั้งที่เจ็ดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 สมัชชาได้กำหนดให้มีการประชุมทบทวนธรรมนูญกรุงโรมขึ้น ณ เมืองกัมปาลา ประเทศอูกันดา ราว ๆ ต้นปี 2553

คณะประธาน

ฟิลิป เคิสช์ (Philippe Kirsch), ประธานศาลตั้งแต่ปี 2546-2552

คณะประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (Presidency of the International Criminal Court) เป็นองค์กรด้านบริหารศาลแต่ไม่รวมถึงการบริหารสำนักงานอัยการของศาลโดยประกอบด้วย ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (President of the InternationalCriminal Court) และรองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ คนที่หนึ่ง และคนที่สอง (First and Second Vice-Presidents of the International Criminal Court) ทั้งสามคนนี้ได้รับเลือกตั้งโดยตุลาการที่เหลือ มีวาระดำรงตำแหน่งคราละสามปี

ประธานศาลคนปัจจุบัน คือ ซง ซัง-ฮยุน (Song Sang-Hyun) ได้รับเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552

แผนกตุลาการ

ตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศ (judges of the International Criminal Court) มีทั้งหมดสิบแปดคน ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งแบ่งกันเป็นสามแผนก (Division) คือ แผนกพิจารณาเบื้องต้น (Pre-Trial Division), แผนกพิจารณา (Trial Division) และแผนกอุทธรณ์ (Appeals Division)

เป็นอำนาจของสมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมในอันที่จะเลือกตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศ ตุลาการแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งเก้าปี และได้เพียงวาระเดียวเท่านั้นคุณสมบัติของผู้จะเป็นตุลาการ คือ ต้องมีสัญชาติของรัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรม และในบรรดาตุลาการทั้งสิบแปดคนนั้น ห้ามมีสัญชาติซ้ำกันเลย นอกจากนี้ ข้อ 36 แห่งธรรมนูญกรุงโรมยังกำหนดว่า ตุลาการต้องเป็น “บุคคลผู้พร้อมด้วยจริยลักษณะอันสูง ความเป็นกลาง และความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งมีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับแต่งตั้งข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ในรัฐของตน”

ข้อ 41 แห่งธรรมนูญกรุงโรมยังว่า อัยการ หรือบุคคลที่กำลังถูกสืบสวนหรือฟ้องคดี จะร้องขอคัดค้านตุลาการคนใดก็ได้ “ในกรณีที่มีเหตุควรกังขาถึงความเป็นกลางของตุลาการผู้นั้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลอันใด” คำร้องขอคัดค้านมิให้ตุลาการคนใดเข้าร่วมทำคดีใด ๆ นั้น จะได้รับการวินิจฉัยโดยเสียงข้างมากเด็ดขาดของตุลาการคนอื่น ๆ ที่เหลือ

อนึ่ง ตุลาการอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ ถ้า “ปรากฏว่าตุลาการผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือละเลยหน้าที่ร้ายแรง” หรือไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ของตนได้ การจะสั่งให้ตุลาการคนใดพ้นจากตำแหน่งนั้น ต้องได้รับเสียงข้างมากสองในสามของตุลาการคนอื่น ๆ ที่เหลือ และเสียงข้างมากสองในสามของรัฐภาคีทั้งหลาย

สำนักงานอัยการ

สำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (Office of the Prosecutor of the International Criminal Court) รับผิดชอบงานสืบสวนและงานฟ้องคดี มีผู้บังคับบัญชา คือ อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (Prosecutor of the International Criminal Court) โดบมีรองอัยการ (Deputy Prosecutor) สองคนคอยแบ่งเบาภาระหน้าที่ แต่ละคนดำรงตำแหน่งเก้าปี และอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ธรรมนูญกรุงโรมกำหนดให้สำนักงานอัยการมีอิสระในการดำเนินงานของตน เพราะฉะนั้น พนักงานอัยการทุกคนของสำนักงานอัยการจะไม่เสาะหาหรือรับฟังคำสั่งของผู้ใดอีก ไม่ว่าเป็นรัฐ องค์การระหว่างประเทศ องค์การระหว่างรัฐบาล หรือบุคคลใดก็ดี

สำนักงานอัยการนั้นจะเริ่มสืบสวน เมื่อมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

  • เมื่อรัฐภาคีหนึ่งยื่นเรื่องราวสถานการณ์ใดมา
  • เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยื่นเรื่องราวสถานการณ์ใดมา เพื่อเตือนให้ทราบถึงภัยอันคุกคามสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
  • เมื่อองค์คณะตุลาการชั้นไต่สวนมูลฟ้องอนุญาตให้สืบสวน บนฐานแห่งข้อมูลข่าวสารที่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับมาจากแหล่งอื่น ๆ เช่น มีบุคคลหรือหน่วยงานเอกชนแจ้งมา

บุคคลใดที่กำลังถูกสืบสวนหรือฟ้องคดีจะร้องขอคัดค้านพนักงานอัยการคนใด ๆ ไม่ให้ทำคดีของตนก็ได้ ถ้า “ปรากฏว่ามีเหตุสมควรกังขาถึงความเป็นกลางของอัยการ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอันใด” คำร้องคัดค้านพนักงานอัยการเช่นนี้ จะได้รับการวินิจฉัยโดยแผนกอุทธรณ์ของศาล พนักงานอัยการผู้ใดอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดของรัฐภาคีทั้งหลายก็ได้ ถ้าปรากฏว่าพนักงานอัยการผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือละเลยหน้าที่ร้ายแรง หรือไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ของตนได้

สหรัฐอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ธรรมนูญกรุงโรมไม่ได้วางระบบให้เพียงพอสำหรับคานอำนาจและตรวจสอบกันระหว่างพนักงานอัยการและตุลาการของศาลอาญาระหว่างประเทศ และยังปราศจากระบบป้องกันมิให้มีการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือใช้อำนาจไม่โดยมิชอบประการอื่นด้วย[22] เฮนรี คิสซิงเงอร์ (Henry Kissinger) ว่า ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลนั้นอ่อนถึงขนาดที่ในทางปฏิบัติแล้วอัยการสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างไม่จำกัด

อัยการคนปัจจุบัน คือ ลูอีส มอเรโน โอคัมโพ (Luis Moreno Ocampo) ชาวอาร์เจนตินา ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 และดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม ปีนั้นเป็นต้นมา

สำนักทะเบียน

สำนักทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ (Registry of the International Criminal Court) รับผิดชอบงานธุรการและงานบริการของศาล งานเหล่านี้รวมถึง งานให้ความช่วยเหลือทางคดี การบริหารจัดการของศาล กิจการเกี่ยวกับผู้เสียหายและพยานบุคคล งานจัดหาทนายฝ่ายจำเลย งานของหน่วยขัง และงานทั่วไปตามจำเป็นสำหรับธุรการ เช่น งานทะเบียน งานแปล งานอาคารสถานที่ งานบุคลาการ งานงบประมาณ ฯลฯ

สำนักทะเบียนนั้น มีผู้บังคับบัญชา คือ นายทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ (Registrar of the International Criminal Court) ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาโดยตุลาการทั้งปวง และอยู่ในตำแหน่งคราละห้าปี นายทะเบียนคนปัจจุบัน คือ ซิลวานา อาร์เบีย (Silvana Arbia) ผู้ได้รับเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552

สถานที่ของศาล

บัลลังก์ และกองบัญชาการ

ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นออกนั่งบัลลังก์ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ถ้าเห็นสมควรแล้ว จะดำเนินกระบวนพิจารณาที่ใดก็ได้ทุกแห่งหน กองบัญชาการของศาลก็ตั้งอยู่ที่เดียวกันโดยอาศัยความตกลงกับประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเรียก “ความตกลงเรื่องกองบัญชาการ ระหว่างศาลอาญาระหว่างประเทศกับรัฐเหย้า” (Headquarter Agreement between the International Criminal Court and the Host State) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551 ปัจจุบัน กองบัญชาการของศาลตั้งอยู่ชั่วคราวทางด้านตะวันออกของกรุงเฮก ส่วนกองบัญชาการถาวรนั้นกำลังสถาปนาขึ้นที่อเล็กซันเดอร์คาเซือร์น (Alexanderkazerne) ทางตอนเหนือของกรุงเฮก

อนึ่ง ศาลยังมีสำนักประสานงาน (liaison office) อยู่ในกรุงนิวยอร์ก และมีสำนักงานภาคสนาม (field office) ที่อื่น ๆ อีกสำหรับกิจการของศาลโดยตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2550 สืบมา ศาลมีสำนักงานภาคสนามใน เมืองคัมปาลา, คินชาซา, บูเนีย, อาเบเช และ แบนกูอี

ใส่ความเห็น